SHARES:
หลายปีที่ผ่านมา ความตระหนักรู้ของคนมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเดือนมิถุนายนเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเดือนแห่งความภูมิใจของ LGBTQIAN+ หรือที่เรียกกันว่า “Pride Month” 

ท่ามกลางการเฉลิมฉลองขบวนพาเหรดสีรุ้ง จะเห็นได้ว่ามักมีป้ายโฆษณา หรือสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ใช้สีรุ้งในการโปรโมททำการตลาด

โดยเราจะเรียกการโฆษณารูปแบบนี้ว่า Rainbow Washing ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้ารู้สึกในเชิงบวกกับแบรนด์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แต่นั่นเป็นเพียงการสนับสนุนแบบผิวเผินเท่านั้น ไม่ได้ขับเคลื่อนสังคมแต่อย่างใด 

Rainbow Washing คืออะไร?

คำว่า Rainbow Washing เป็นการใช้ “สีรุ้ง” ที่เป็นสัญลักษณ์ของ Pride Month เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้า Limited Edition รวมถึงการออกงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างภาพที่ดีให้กับแบรนด์ต่อลูกค้าว่า “แบรนด์สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ” โดยในความเป็นจริงแบรนด์ไม่ได้มีความเข้าใจ หรือสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQIAN+ เลย แต่เป็นเพียงการ “เกาะกระแส” ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกแบรนด์จะสนับสนุนตามกระแส Pride Month เพราะยังมีอีกหลายแบรนด์ที่สนับสนุนอย่างจริงจัง แล้วเราจะทำการตลาดแบรนด์ของตัวเองอย่างไรให้ไม่ Rainbow Washing? ไม่ฉาบฉวยต่อการสนับสนุนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ 

แบรนด์จะหลีกเลี่ยงการทำ Rainbow Washing อย่างไร?

1.ไม่ตีกรอบให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศแตกต่าง หรือพิเศษไปกว่าคนอื่น – สร้างความตระหนักรู้ผ่านสินค้าหรือบริการ หรือฟังเสียงความต้องการของคนใน Community ว่าควรทำอะไรไม่ทำอะไร รวมถึงสนับสนุนความหลากหลายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงแต่ช่วง Pride Month

2.ชัดเจนในจุดยืนของแบรนด์ – ไม่ทำตัวครึ่งๆ กลางๆ นอกจากสื่อสารออกมาผ่านการโฆษณา หรือสินค้าและบริการ ต้องมีการลงมือทำให้เห็นว่าแบรนด์สนับสนุนกลุ่มความหลากหลายทางเพศโดยแท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ โดยไม่การเสียรายได้จากกลุ่มลูกค้าอนุรักษ์นิยม

3.มีนโยบายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ – นโยบาย สวัสดิการ และสภาพแวดล้อมของบริษัท เป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าแบรนด์มีการปฏิบัติทางเพศอย่างเท่าเทียม เช่น ให้สิทธิลาในการผ่าตัดแปลงเพศ ลาแต่งงานเทียบเท่าชายหญิง คัดเลือกคนเข้าองค์กรผ่านความสามารถ เป็นต้น

จากข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แบรนด์สามารถผลักดันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศได้ แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลากหลายวิธีที่แบรนด์สามารถทำได้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป

ตัวอย่างแบรนด์ที่แสดงออกถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
IKEA : ให้โอกาสพนักงานทุกคนตามความสามารถโดยไม่แบ่งแยกเพศสภาพ
แสนสิริ : ให้พนักงานลางานเพื่อแต่งงานได้ 7 วัน เทียบเท่ากับพนักงานชายหญิง รวมถึงแสนสิริยังจับมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ลูกค้า LGBTQ+ “กู้ร่วม” เพื่อซื้อบ้านของแสนสิริได้
ศรีจันทร์ : เพิ่มสวัสดิการลาผ่าตัดแปลงเพศ ลาคลอดแบบได้รับเงินเดือนเป็น 180 วัน จาก 45 วัน ตามกฎหมาย และพ่อสามารถลาเลี้ยงลูกได้ 30 วัน
LINE MAN Wongnai : ที่ให้สวัสดิการแก่พนักงานอย่างเท่าเทียม เช่น พนักงาน LGBTQ+ ได้รับเงินช่วยเหลือในกรณีแต่งงาน 20,000 บาท เทียบเท่ากับพนักงานชายหญิง 

เพราะความเท่าเทียมทางเพศเป็นมากกว่าเรื่องสิทธิส่วนบุคคล สำหรับแบรนด์แล้วการทำการตลาดในช่วง Pride Month กับโลโก้สีรุ้งอาจไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ลูกค้ายังมองหานโยบายและจุดยืนที่จริงใจ ในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

แม้ความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่คงโดนกดทับจากระบบการมองคนไม่เท่ากันของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ดังนั้นการเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกเพศ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อสายรุ้งอันสดใสในอนาคต 

 

✓ The right insight at your fingertips.

—————

“InsightEra” ผู้ให้บริการ MarTech แบบครบวงจร

สนใจหรือสอบถามเพิ่มเติม
https://www.insightera.co.th/contact-us/
Email : [email protected]